การหลอกลวงโดยมิจฉาชีพคือเหตุการณ์ที่มีผู้หลอกลวงเงินของคุณ มิจฉาชีพมีความเชี่ยวชาญในการแสร้งทำเป็นว่าตนเป็นบุคคลนั้น ๆ จริงและสามารถช่วยคุณได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
วิธีตรวจจับการหลอกลวงโดยมิจฉาชีพ
สัญญาณหลักที่บ่งชี้ว่าเป็นการหลอกลวงโดยมิจฉาชีพมีดังนี้
- เป็นการติดต่อที่คุณไม่คาดคิด - มีคนเสนอช่วยเหลือคุณเกี่ยวกับเรื่องบางเรื่อง เช่น บัญชีธนาคารหรืออินเทอร์เน็ตของคุณ หรือแนะนำให้คุณลงทุน
- ข้อเสนอดีเกินจริง และดูเหมือนเป็นแผน 'รวยทางลัด' ซึ่งไม่สมเหตุสมผลในความเป็นจริง
- คุณถูกกดดันให้ทำอะไรอย่างรวดเร็ว เช่น โอนเงินหรือตัดสินใจอย่างรวดเร็ว
มิจฉาชีพอาจขอให้คุณทำสิ่งต่อไปนี้
- ชำระเงินด้วยวิธีที่ผิดปกติ เช่น ด้วยบัตรของขวัญ
- อัปเดตรายละเอียดการเข้าสู่ระบบของคุณ หรือให้บอกรหัสผ่านหรือรายละเอียดส่วนตัวอื่น ๆ
- ยืนยันรายละเอียดธนาคารของคุณเพื่อให้สามารถ 'คืนเงิน' ให้คุณได้
- แจ้งรหัสยืนยันจากธนาคารให้พวกเขา
- คลิกที่ลิงก์ที่พวกเขาส่งให้คุณ
- ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ที่พวกเขาส่งให้
- ให้พวกเขาเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของคุณจากระยะไกล เพื่อให้พวกเขาสามารถ 'แก้ไข' ปัญหา (ที่ไม่มีอยู่จริง)
วิธีป้องกันตนเองจากการหลอกลวงโดยมิจฉาชีพ
หยุด
หากคุณได้รับการติดต่อโดยไม่คาดคิด ให้หยุดและคิดก่อนที่จะตอบกลับ
ตรวจสอบ
ตรวจสอบว่าผู้ติดต่อนั้นมาจากบุคคลหรือองค์กรจริงหรือไม่
ค้นหาหมายเลขโทรศัพท์จดทะเบียนที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ หรือถ้าคุณรู้จักคน ๆ นั้น ให้โทรหาเขาโดยตรงและถามว่าเขาติดต่อคุณจริงหรือไม่
ตรวจสอบการทำธุรกรรมที่น่าสงสัยในบัญชีธนาคาร รายงานเครดิต และบัญชีสำหรับซื้อสินค้าออนไลน์ของคุณอย่างสม่ำเสมอ
ลงมือดำเนินการ
หากคุณสงสัยว่ามีบางอย่างไม่ถูกต้อง ให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว บล็อกหรือลบข้อความหรืออีเมล หรือวางสาย
อย่าส่งเงินใด ๆ หรือหากคุณส่งเงินไปแล้ว ให้ติดต่อธนาคารหรือสถาบันการเงินของคุณทันทีเพื่อรายงานเรื่องการหลอกลวงโดยมิจฉาชีพนั้น
เตือนครอบครัวและเพื่อนของคุณเกี่ยวกับเรื่องนี้และระวัง 'ข้อเสนออื่น ๆ' ที่ตามมาเพื่อกู้คืนเงินที่เสียไป
มันนี่สมาร์ท (MONEYSMART)
เพื่อป้องกันตัวเองจากการหลอกลวงโดยมิจฉาชีพ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ใช้เฉพาะเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้ในการทำธุรกรรมทางธนาคาร การลงทุน การซื้อของ – มองหาสัญลักษณ์ 'แม่กุญแจ' ในที่อยู่เว็บไซต์
- อย่าคลิกลิงก์ในอีเมลหรือข้อความที่น่าสงสัย
- ตรวจสอบธุรกรรมของคุณว่ามีสิ่งใดน่าสงสัยหรือไม่
- ใช้รหัสผ่านที่รัดกุมและเปลี่ยนรหัสผ่านทุก ๆ 6 เดือน
- รักษาข้อมูลส่วนบุคคลของคุณให้ปลอดภัย – วันเกิด ที่อยู่ อีเมล ข้อมูลติดต่อทางโซเชียลมีเดีย
- รักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์พกพาของคุณ – เก็บไว้ในที่ปลอดภัยที่บ้านและใช้ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสจากผู้ให้บริการที่เชื่อถือได้
จะทำอย่างไรหากคุณถูกหลอกลวง
หากคุณถูกหลอกลวง ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้
- อย่าส่งเงินอีก บล็อกการติดต่อทั้งหมดจากมิจฉาชีพรายนั้น
- ติดต่อธนาคารหรือสถาบันการเงินของคุณทันทีเพื่อรายงานเกี่ยวกับการหลวกลวงโดยมิจฉาชีพนี้ ขอให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินหยุดธุรกรรมใด ๆ
- เตือนครอบครัวและเพื่อนของคุณเกี่ยวกับการหลวกลวงโดยมิจฉาชีพนี้
- ระวังการหลอกลวงที่อาจเกิดขึ้นตามมาด้วย 'ข้อเสนอต่าง ๆ' เพื่อรับเงินคืนหากคุณจ่ายเงินเพิ่ม
หากมิจฉาชีพมีข้อมูลส่วนบุคคลของคุณ โปรดติดต่อ IDCARE ที่ หมายเลข 1800 595 160 (วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 8.00 น. ถึง 17.00 น.) บริการนี้สามารถช่วยคุณวางแผน (ฟรี) เพื่อจำกัดความเสียหาย
การถูกหลอกลวงเป็นประสบการณ์ที่เลวร้าย หากคุณต้องการผู้ให้คำปรึกษา (24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์) ติดต่อ Lifeline ที่ 13 11 14 หรือ Beyond Blue ที่ 1300 224 636
ขอรับความช่วยเหลือหากคุณต้องการ
มีบริการช่วยเหลือฟรี หากคุณต้องการ
- หากต้องการความช่วยเหลือในภาษาของคุณ โปรดโทรหาบริการแปลและล่าม TIS National ที่ หมายเลข 131 450 พวกเขาจะจัดหาล่ามเพื่อโทรหาบริการที่คุณต้องการความช่วยเหลือ
- หากต้องการความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาเรื่องเงิน โปรดโทรไปที่ สายช่วยเหลือหนี้สินแห่งชาติ (National Debt Helpline) ฟรีที่ หมายเลข 1800 007 007 สายด่วนเปิดทำการในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 9.30-16.30 น.